‘การเบิร์นหูฟัง’ เป็นศัพท์ที่นักฟังเพลงจะมักพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ เวลาซื้อหูฟังตัวใหม่มา ซึ่งหูฟังก็คือลำโพงตัวเล็กเอาไว้ใส่ข้างใบหู เราสามารถได้ยินเสียงคนเดียว แต่เมื่อตอนซื้อมาใหม่ๆหูฟังบางรุ่นเสียงอาจจะยังไม่เข้าที่ จึงทำให้นักเล่นหูฟังต้องเบิร์นมันก่อนจะนำไปฟังอย่างจริงจัง
ส่วนประกอบของหูฟัง
โดยมันจะมีส่วนประกอบอยู่ชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือไดอะแฟรม ซึ่งเป็นเหมือนเป็นดอกลำโพงเล็กๆของหูฟัง ซึ่งจะมีการสั่นไหวตลอดเวลาเมื่อเปิดเพลง หลังจากพึ่งซื้อหูฟังใหม่มา หูฟังที่ประกอบมาจากโรงงานยังไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน สำหรับบางรุ่นอาจมีไดอะแฟรมซึ่งยังไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่นัก แต่ถ้าได้รับการเบิร์นดี ความยืดหยุ่นนี้ก็จะค่อยๆเข้าที่ จึง ทำให้เสียงเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้จะเปลี่ยนมากหรือน้อยก็ไม่เท่ากันในแต่ละรุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วมันมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
การเบิร์นหูฟังที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
การเบิร์นหูฟัง ตามปกติแล้วสามารถทำได้อย่างง่ายดายๆ ด้วยการเปิดเพลงทั่วไป ฟังไปเรื่อยๆ ให้ใช้ระดับความดังระดับปกติหรือน้อยกว่าเท่าที่คุณชอบฟัง แต่ถ้าจะให้ดีควรเปิดเสียงเบาลงอีกสักเล็กน้อยจากปกติ โดยเก็บชั่วโมงไปเรื่อยๆให้ได้ประมาณ 10-50 ชั่วโมงขึ้นไปก็น่าจะเห็นผลแล้ว ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดฟังอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ค่อยๆฟังไปเรื่อยๆก็ได้และหูฟังบางตัวอาจเห็นผลอย่างชัดเจนเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นนักฟังเพลงที่มีประสบการณ์อย่างยาวนาน แน่นอนว่าคุณจะต้องการเรียกคุณภาพเสียงออกมาให้ได้สูงสุดตามใจต้องการ จึงทำให้นักฟังเพลงกลุ่มนี้มักจะเต็มไปด้วยความพิถีพิถันในการเลือกไฟล์เพลงเพื่อใช้ในการเบิร์นหูฟังเป็นพิเศษ โดยเขาจะเลือกไฟล์เพลงความละเอียดสูงระดับ lossless เช่น ไฟล์เพลงมีนามสกุลลงท้ายด้วย flac , wav เป็นต้น เพราะพวกเขามีความเชื่อว่าการเบิร์นหูฟัง โดยใช้ไฟล์ไม่ถูกบีบอัด จะส่งผลให้ย่านความถี่เสียงกระตุ้นไดอะแฟรมได้กว้างกว่า รวมทั้งเห็นผลได้อย่างชัดเจนกว่าในส่วนของดนตรีที่มีความถี่สูง
สรุปขั้นตอน
- ให้คุณเปิดเพลงฟังไปเรื่อยๆ และเลือกเป็นไฟล์ความละเอียดสูงเพื่อคุณภาพเสียงดีที่สุด อย่างต่ำระดับ mp3 320 kpbs หรือใช้ไฟล์ lossless ยิ่งดี
- เปิดระดับเสียงฟังปกติหรือเบากว่าเพียงเล็กน้อย
- ใช้เวลาการเบิร์น 10 – 50 ช.ม. บางรุ่นอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้
- อย่าใช้ไฟล์ความถี่เสียงสังเคราะห์ในการเบิร์น เนื่องจากจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี